วันพุธที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

คำถาม

ภาพหญิงชราหาบของพะรุงพะรังเบื้องหน้ากระตุ้นต่อมความคิดของผมยิ่งนัก
คำถาม

- เธอมี สามี ลูก หลาน หรือญาติพี่น้อง หรือไม่?
- เธออายุเท่าไหร่ ?
- อาชีพที่เธอทำอยู่สร้างรายได้ให้กับเธอวันละเท่าไหร่ และพอกับค่าครองชีพหรือไม่ ?
- เธอต้องมีภาระในการใช้จ่าย หรือเลี้ยงดูคนอื่นอีกไหมนอกจากตัวเอง ?
- บ้านเธออยู่ที่ไหน ?
- อาชีพที่เธอทำเรียกว่าอะไร ?
- ในชีวิตเธอ เคยมีคนรักหรือไม่ ?
- ชื่อของเธอคือ ... ?
- เธอทำอย่างนี้มานานมากไหม ?
- เธอเคยเรียนหนังสือหรือไม่ ?
- เพราะอะไรเธอ ไม่ทำงานอย่างอื่น ?
- เธอมีความสุขไหม ?
- เธอสนใจการเมืองบ้างหรือเปล่า ?
- วิกฤตการณ์เศรษฐกิจตกต่ำมีผลต่อเธอไหม ?
- กลับบ้านไปเธอจะทำอะไร ?
- เมื่อไหร่ที่เธอจะหยุดพัก ?
- เธอเหนื่อยไหม ?

คำถามมากมายเกิดขึ้น มันวิ่งวกวนไร้ทิศทางในหัวผม โดยที่เธอผู้อยู่เบื้องหน้ามิได้รับรู้แม้แต่น้อย เธอยังคงดำเนินชีวิตของเธอต่อไป ใบหน้าไร้การแสดงออกซึ่งความรู้สึกใด ๆ นั้นไม่ยี่หระต่อตัวแปรภายนอก หรือชีวิตของเราทั้งเป็นเพียงแค่จุดตัดแห่งกาลเวลาที่วนมาบรรจบกันแล้วก็ผ่านเลยไป แล้วใยต้องมาตัดผ่านกันในเวลานี้ หรือว่าเส้นโคจรนี้ถูกกำหนดจัดเตรียมไว้ให้พบเจอ อาจมีใครสักคนที่คอยขีดเส้นร้างที่เราไม่สามารถมองเห็น และรับรู้ได้ไว้ก่อนหน้า เพื่อที่เราจะได้เดินไปตามเส้นทางนั้น ๆ แม้อาจต่างเส้นทาง แต่สุดท้ายบันปลายคือที่แห่งเดียวกัน

หญิงชราคนนั้นได้จากไป แต่คำถามมากมายที่เกิดขึ้น ณ รอยตัดนั้นยังคงอยู่กับผม...

วันศุกร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

“กำขี้” ดีกว่า “กำตด” ???

ต้องขออภัยอย่างยิ่ง ที่ขึ้นหัวข้อมาก็ส่งกลิ่นตลบอบอวลทั่วบล็อกเลย !!! เพราะวันนี้จะพูดถึง ทั้ง “ขี้” ทั้ง “ตด” หากท่านผู้อ่านท่านใด รับไม่ได้ กรุณาเลื่อนเมาส์ของท่านไปที่มุมด้านขวาบนของหน้าจอคอมพิวเตอร์ แล้วคลิกเครื่องหมาย X ได้เลย

เราคงคุ้นเคยกับคำพูดที่ว่า “กำขี้ดีกว่ากำตด” เป็นอย่างดี เพราะมันถูกใช้อย่างแพร่หลาย ตั่งแต่ในวงการไฮโซ ไปจนถึง กรรมกรใช้แรงงานทั่วไป ไม่เว้นแม้แต่เวที สีแดง หรือ สีเหลือง และอีกมากมายไปยาลใหญ่ ซึ่งคำนี้มีความหมายว่า “ได้อะไรซักอย่าง ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย” (วะ)

ตามสถานการณ์ทั่วไปที่พบเจอคำนี้ได้บ่อยก็คงเป็น การนำมาใช้เมื่อเราพลาดอะไรที่เป็นความต้องการจริง ๆ แล้วได้อะไรที่ไม่ตรงกับความต้องการของตัวเอง เรามักจะจบด้วยถ้อยคำปลอบใจตัวเองว่า อย่างน้อยก็ “กำขี้ดีกว่ากำตด” ซึ่งในความเป็นจริงมันก็ไม่ได้ช่วยให้ความรู้สึกแย่ ดีขึ้นมาซักเท่าไหร่ ออกจะเป็นแนวระบายอาการปลงในใจเสียมากกว่า

การใช้คำพูดนี้ น่าจะเป็นการเปรียบเทียบ ในเชิงประชดประชัน หากลองวิเคราะห์ตามคุณลักษณ์ของคำที่ใช้ ก็คงจะได้ความหมายว่า “ขี้” เป็นรูปธรรม สัมผัสได้ แตะต้องได้ เป็นตัวแทนของการได้มาซึ่ง แต่ “ตด” เป็น นามธรรม สัมผัสไม่ได้ ไร้ตัวตน เป็นตัวแทนของความว่างเปล่า ไร้ซึ่ง จึงถูกนำมาใช้ในการเปรียบเทียบการ พลั้งพลาดจากเป้าหมายหลักแห่งความต้องการ แต่ก็ยังมีอะไรที่ติดไม้ติดมือมาก็ยังดี

เป็นที่น่าสงสัยอย่างยิ่งว่าทำไมต้องเป็น “ขี้” และ “ตด” ทำไมไม่เป็น “หมา” กับ “ลม” หรือไม่ก็ “ควาย” กับ “แสงแดด” สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นตัวแทนของ รูปธรรม นามธรรม ได้ทั้งนั้น แต่เมื่อลองพิจารณาจาก อรรธรส ทั้ง อารมณ์ ความรู้สึก ในการฟังแล้ว ปรากฏว่า “ขี้” กับ “ตด” ชนะไปอย่างเป็นเอกฉันท์ จึงพอรับได้ในเรื่องของการเลือกใช้คำ

แต่เมื่อลองพิจารณาตามความหมาย ก็เริ่มที่จะสงสัย ว่าตกลงการ กำ “ขี้” มันดีกว่า กำ “ตด” จริงหรือ?

เมื่อการกำ “ขี้” ในความเป็นจริงเราต้องทนทั้งกลิ่นเหม็น สภาพที่ไม่น่าดูของมันซึ่งมันไม่เคยบอกก่อนเลยว่าก่อนออกจากระบบขับถ่ายมาสู่โลกภายนอกนั้น มันจะเป็น ก้อน หรือ เหลว เละ หรือ มีกาก อะไรติดมาบ้างรึเปล่า (พิจารณาได้จากประสบการณ์ส่วนบุคคลได้) ซึ่งเมื่อเรากำมันขึ้นมามันเป็นอะไรที่ฝืนกับความเป็นจริงอย่างยิ่ง คงมีน้อยคนที่จะชื่นชมใน “ขี้” ของตัวเองด้วยการจ้องมอง และหยิบมาชื่นชม ลูบไล้ ก่อนกดมันลงชักโครก แต่ในทางตรงกันข้าม เราแทบจะไม่ดูมัน แถมยังกลั้นหายใจอีกต่างหาก เพราะฉะนั้นการกำ “ขี้” ในชีวิตจริงคงเกิดขึ้นได้น้อย หรือไม่ เปอร์เซ็นต์คงเป็นศูนย์

มาถึงคู่กรณี “ตด” เป็นลมผายที่ออกมาจากช่องแคบระหว่างก้อนเนื้อสองก้อนที่เรียกว่า “ก้น” เป็นการระบาย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีเทน ออกมาจากสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “มนุษย์” ซึ่งสามารถมีผลกระทบต่อคนรอบข้างได้ ตั้งแต่ พ่อแม่ เพื่อนฝูง ไปจนถึงคนแปลกหน้า สามารถออกฤทธิ์ได้ทุกสถานที่ ความแรงในแต่ละครั้งขึ้นอยู่กับความมิดชิด อับ แออัด ของพื้นที่นั้น ๆ ในการหยิบยก “ตด” มาใช้ในกรณีที่ว่า “กำขี้ดีกว่ากำตด” คงเป็นเพราะมันใช้เป็นตัวแทนของการไม่ได้อะไรเลย เพราะ “ตด” อยู่ในรูปของ “ก๊าซ” ซึ่งจับต้องไม่ได้ แต่เมื่อคิดให้ดี ทุกครั้งเมื่อเราต้องกำ “ตด” ไม่ว่าในกรณี “ตดออกมาแล้วกำในใส่หน้าเพื่อน” หรือ “การตดแล้วกำ ไปปล่อยที่อื่นเพราะไม่อยากให้คนอื่นได้กลิ่น” ล้วนเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง เพราะทุกครั้งที่กำ “ตด” เราไม่ต้องทนต่อความขยะแขยง หรือต้องวิ่งแจ้นไปล้างให้เสียเวลา เพราะไม่มีใครมองเห็น จะทนก็อย่างเดียวคือกลิ่น แต่นั่นก็กลิ่นของเราอีกเช่นกัน ในความเป็นจริงคนส่วนใหญ่ไม่รังเกียจตดของตัวเองซักเท่าไหร่ ออกจะดูน่ารักด้วยซ้ำถ้า เผลอ “ตด” ออกไปดัง ๆ ขณะที่กำลังสนทนา หรืออยู่กันหลายคน เสียงหัวเราะ มักจะมาแทนคำด่า เสียมากกว่า แต่หากลองนึกดูว่ามีใครสักคนเกิด “ขี้” แตก ขึ้นมากลางวงสนทนา จะมีใครสักคนหรือไม่ที่ขำออก

ถ้อยคำที่ว่า กำ “ขี้” ดีกว่า กำ “ตด” นั้น ถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยที่หลายคนไม่ได้คิดอะไรมากมาย มีคนใช้มาก็เลยใช้ต่อ ๆ กันไป แต่ผมว่า มีหลายสิ่งหลายอย่างบนโลกกลม ๆ ใบนี้หาก หยิบใช้กันอย่างไม่ได้คิดไตร่ตรองให้ดี ก็อาจจะเป็นผลกระทบทั้งตัวคนใช้ หรือคนที่อยู่รอบข้าง ถึงเวลาแล้วที่เราจะพิจารณาถึงรายละเอียดเล็กน้อยที่ดูไม่สำคัญในชีวิต แต่เชื่อเถอะว่าทุกสิ่งที่เป็นการกระทำของเรา ส่งผลกระทบออกไปสู่สิ่งอื่นได้ทั้งนั้น เหมือนที่ใครบางคนบอกไว้ว่า “การกระทำแม้เพียงเล็กน้อยก็เปลี่ยนแปลงโลกได้”

โลกทุกวันนี้สอนให้เรากำ “ขี้” มานานเสียจนลืมในความหมายของมัน ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะ ล้าง “ขี้” ที่ติดมือออกไป แล้วหันมา กำ “ตด” ซึ่งเมื่อกำแล้วไม่ต้องล้าง อย่าปล่อยให้ “ขี้” เกาะกุมมุมมองของเราเสียจนลืมมองความเป็นจริงในการดำเนินชีวิตนะครับ ...