วันอังคารที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2551

หล่น – หาย

คุณเคยทำอะไรหายบ้างหรือเปล่า?

หลายครั้งที่เราเคยทำสิ่งของสำคัญหายไปจากชีวิต เหตุการณ์เหล่านั้นล้วนแต่นำความเสียใจมายังชีวิตเรา ปริมาณในความเสียใจนั้นย่อมแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความสำคัญของวัตถุแต่ชิ้น

ถ้าหากว่าสิ่งที่หายไปจากชีวิตเราไม่ได้เป็นสิ่งของ หรือวัตถุ แต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “คน” เราจะรู้สึกยังไง ???

ในความเป็นจริงเหตุการณ์เช่นนี้ล้วนเกิดขึ้นกับเราทุกคนมาแล้ว ทั้งนั้น หากลองคิดย้อนหลังไปให้ดีเราจะพบว่ามีคนมากมายที่เราหลงลืมทิ้งไว้ข้างทางเดินของชีวิต

ติ๋ว เพื่อนตอน ป.2 ที่เราชอบแกล้งเป็นประจำ
สมชายที่เคยโดดน้ำด้วยกัน
สังเวียน ที่แอบขี่มอเตอร์ไซด์ ไปเที่ยวด้วยกันครั้งแรกตอน ม.2
บรรจบ คู่แข่งจีบน้อง แต๋ว ตอน ม.5
เฉลิมชัย เพื่อนรวมคณะในมหาวิทยาลัย
ฯลฯ ...

คนเหล่านี้ได้แวะเวียนเข้ามาสร้างสีสัน แต่งเติมชีวิตของเราให้มีรสชาติ แล้วก็ผลัดเปลี่ยนกันห่างหายไป ซึ่งถ้ามองกลับกันเราก็เป็นส่วนหนึ่งเช่นกันในการ เติมแต่งชีวิตของผู้อื่น แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปถึงจุดหนึ่งที่เรียกว่า การลาจาก ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม เราก็ปฏิเสธมันไม่ได้ และสิ่งที่เป็นผลตามมาก็คือ การลบเลือนทางความรู้สึก มันจะค่อย ๆ จางหายไปพร้อมกับภาพความทรงจำ ยิ่งนานก็ยิ่งทำให้ภาพในหัว หม่น มัว นัว ลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่ง ความรู้สึกและภาพมันค่อย ๆ หายไป

เคยไหมที่เจอเหตุการณ์ พบเพื่อนเก่า ตอนประถม หรือ แล้วไม่กล้าเข้าไปทัก ไม่รู้จะเริ่มต้นในการเข้าไปคุยยังไง ทั้ง ๆ ที่มันก็คือ คนเดียวกับที่เรา ตบหัว กอดคอ ขี่หลัง กันในวันวาน

น่าแปลกใจที่ความรู้สึกที่หอมหวนกับเหตุการณ์น่าประทับใจในวันวาน มันลดลงเมื่อคนเราได้แยกจาก หรือแท้จริงแล้วความห่างเหิน มันบั่นทอนความรู้สึกและความทรงจำในวันวาน หรือว่าเป็นเราเองที่ทำมันหล่นหายระหว่างทางเดินของชีวิต เพราะเนื้อที่ในความทรงจำของเราถูกเบียดแย่งพื้นที่เพื่อใช้ในงานที่เราทำ ความเครียดจากเศรษฐกิจ การจดจ่ออยู่ในความสำเร็จของชีวิต สิ่งเหล่านี้หรือเปล่า ที่เข้ามาเบียดเสียดจนความทรงจำที่ดี ความรู้สึกที่แสนน่าประทับใจ มันตกไปจากหน่วยความทรงจำในใจเรา ใช่!!! “ในใจ” ไม่ใช่ “ในสมอง”

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะกลับไปตามเก็บเอาความทรงจำเหล่านั้นมาเก็บไว้ในลิ้นชักแห่งความทรงจำ หาพื้นที่เฉพาะเพื่อเก็บรวมรวบความรู้สึกดี ๆ ความน่าประทับใจต่าง ๆ ไว้ในชีวิต วันหนึ่งเมื่อเราเหนื่อยล้า หรือหมดแรง ไม่แน่ว่าการดึงลิ้นชักเหล่านี้ออกมาดู และค่อย ๆ ละเลียดความรู้สึกไปกับมัน อาจจะเป็นการเพิ่มพลังในการใช้ชีวิตของเราให้ต่อออกไปอีกวันก็ได้...



วันเสาร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ส.ค.ส. หายไปไหน ???

ผมเกือบลืมไปว่าในช่วงชีวิตหนึ่งเคยมีประสบการณ์ร่วมกับ ส.ค.ส. ถ้าหากไม่ได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งแล้วเจอคำว่า ส.ค.ส. ผมก็คงลืมไปแล้วว่า ผมเคยมีความรู้สึกดี ๆ ผ่านการ ส่งความสุข ไปยังคนอื่น ๆ

หากคุณเคยผ่านชั้นประถมศึกษามา แน่นอนในช่วงก่อนสิ้นปี คุณครูภาษาไทยมักจะให้เด็ก ๆ ในชั้นเรียนทำ ส.ค.ส. เพื่อ “ส่งความสุข” ให้กับคนที่รู้จัก ซึ่งมันจะทำมาจากกระดาษวาดรูปเล่มเล็ก ๆ แบ่งครึ่งแล้วพับอีกที ร่างภาพง่าย ๆ ด้วยดินสอแล้วระบายสี ไม่ว่าจะเป็นสีเทียนหรือสีไม้ ข้างในเว้นที่ว่างไว้ เมื่อคุณครูตรวจแล้วจึงค่อยเขียนข้อความลงไป เป้าหมายคือการ “ส่งความสุข” เป้าหมายในการส่งนั้นก็หลากหลาย บางคนเป็นเพื่อน บางคนนึกถึงพ่อแม่ ญาติพี่น้อง หรือบางคนนึกถึงคนในห้องเดียวกัน ซึ่งแน่นอน เป็นเพศตรงข้าม ผมยังจำความสุข ที่ได้จากการ “ส่งความสุข” ได้เป็นอย่างดี

เมื่อวันเวลาเปลี่ยนไปการ “ส่งความสุข” ของคนเราก็เปลี่ยนตาม ปัจจุบัน ส.ค.ส. ที่เมื่อก่อนเคยทำกันออกมาวางขายเกลื่อนกลาดในช่วงใกล้สิ้นปีนั้นไม่มีให้เห็นอีกต่อไป ภาพของการนั่งเขียน ส.ค.ส. เป็นโหล ๆ เพื่อส่งให้คนที่เรารู้จักก็หมดไปในปัจจุบันหากต้องการส่งความในใจ หรือถ้อยคำพิเศษให้ใคร หรือกลุ่มไหน ก็เพียงแค่กดโทรศัพท์ไปยังโหมด SMS แล้วก็พิมพ์ข้อความ เลือกรายชื่อที่ต้องการส่ง จะรายบุคคล หรือกลุ่มก้อน มากมายขนาดไหน ก็ส่งได้อย่างรวดเร็วทันใจ ไวปานรถไฟซิน-งันเซ็นในญี่ปุ่น แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ยิ่งวิธีการ “ส่ง” เร็วมากขึ้นเท่าไหร่ คุณค่าของสิ่งที่ส่งไปนั้นก็หายไปด้วย เมื่อก่อนกว่าจะส่งได้ไม่ว่าจะเป็น ส.ค.ส. ทำขึ้นเอง หรือ ส.ค.ส. ที่ซื้อมา แต่สุดท้ายก็ต้องใช้วิธีการเขียนข้อความลงไปอยู่ดี ซึ่งขั้นตอนนี้แหละเป็นมนต์เสน่ห์ ของสิ่งที่เรียกว่า “การส่งความสุข” อย่างแท้จริง

การที่ได้นั่งลงบรรจงเขียนสิ่งที่อยู่ภายใจ ให้กับใครสักคนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องบรรจงกลั่นกลองจากหัวใจ ไปยังสมอง สั่งการมายังมือ ผ่านอุปกรณ์ขีดเขียนเป็นข้อความส่งผ่าน บุรุษไปรษณีย์ เพื่อไปถึงเป้าหมายแห่งการส่ง ช่างเป็นขั้นตอนที่เต็มไปด้วยการรอคอย ทั้งฝ่ายรับ และฝ่ายส่ง คุณค่ามันจึงเกิดขึ้นเมื่อได้ รอคอย แต่ในโลกปัจจุบัน ความเร่งรีบเบียดแย่งพื้นที่ความสุขแห่งการรอคอยไปจนเกือบหมดสิ้น ความรวดเร็วในการสื่อสารมีมากขึ้นผู้คนไม่สนใจคำว่ารอคอย ความสุขจึงเลือนหายไป ทำให้ ส.ค.ส. ที่ถูกมองว่าเต็มไปด้วยขั้นตอนยุ่งยากหายไปด้วย

แต่ถ้าลองมองย้อนกลับไปถามตัวเองดี ๆ ว่าความอุ่นใจทุกครั้งที่ได้จากกระดาษแผ่นเล็ก ๆ ที่เรียกว่า ส.ค.ส. นั้น มันหายไปจากชีวิตนานเท่าไหร่แล้ว เราหลงลืมความสุขเช่นนั้นไปนานเท่าไหร่ ???

คำตอบคงอยู่ในใจ ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าจะได้พบกับความสุขอย่างเช่นทุกครั้งที่เปิดมันออกอ่านได้อีกหรือไม่???

เพราะว่า ส.ค.ส. ไม่ได้หายไปแค่ในสังคม แต่มันได้หายไปจากใจของเราเสียแล้ว...

วันพุธที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2551

สองฝาก...

ภาพชายวัยกลางคนนั่งโอดครวญด้วยความเจ็บปวด ทั่วทั้งร่างเต็มไปด้วยเลือดนอนอยู่ข้างถนน ขาข้างขวาขาดวิ่นเลือดแดงฉานเปรอะริมบาตวิถี ผู้คนต่างวิ่งหนีเอาตัวรอด เสียงปืนดังขึ้นเป็นระยะ ๆ แก๊สน้ำตาพวยพุ่งเต็มท้องถนนทำให้ผู้คนต่างปาดน้ำตาของตนด้วยความปวดแสบปวดร้อน บ้างถือผ้าขนหนูปิดหน้า บ้างใช้ผ้าคลุมหน้าไว้ บ้างขว้างปาขวดตอบกลับด้วยความโกรธแค้น

แสงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว แต่แสงแปลบปลาบยังคงแล็บออกมาจากปลายกระบอกปืนอย่างไม่ขาดสาย การปะทะยืดเยื้อมาจนถึงสองทุ่ม แสงไฟสลัวข้างทางยังคงพอช่วยให้หมอ และพยาบาลได้ช่วยคนเจ็บคนป่วยได้บ้าง เสียงหวอดังกังวานไปทั่วท้องถนนเร่งนำคนเจ็บส่งโรงพยาบาล แต่ก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะตอนนี้ท้องถนนเต็มไปด้วยสิ่งกีดขวาง

ชายสองคนหิ้วปีกชายวัยไล่เลี้ยกันเข้ามายังหน่วยพยาบาล มือข้างขวาห้อยรุ่งริ่งจนไม่เหลือสภาพเดิม หญิงชราคนหนึ่งทรุดลงกับพื้นถนนด้วยแรงระเบิดชายหนุ่มคนหนึ่งพยายามประคองเธอลุกขึ้น เด็กหนุ่มถือขวดน้ำพยายามขว้างเข้าใส่เจ้าหน้าที่ ลุงคนหนึ่งพยายามช่วยภรรยาให้ออกมาจากควันแก๊สน้ำตา ชายฉกรรณ์ถือโทรโข่งสั่งการผู้ชุมนุม คนเสื้อเหลืองจำนวนมากวิ่งหนีออกมาจากจุดชุมนุม ในมือคนเหล่านั้นว่างเปล่า แต่ในใจคงเต็มไปด้วยคำถาม

"ท่านครับเราต้องไปแล้ว" เสียงชายในชุดซาฟารีบอกกับเจ้านาย

ผู้เป็นนายลุกขึ้นจากหน้าจอทีวี เดินออกจากห้องด้วยสีหน้าเรียบเฉย ไร้บทสนทนาใด ๆ ...